หน้าแรก

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หลักการทำสมาธิเบื้องต้น

หลักการทำสมาธิเบื้องต้น

จิตของคนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยทำสมาธินั้น ก็มักจะมีสภาพเหมือนม้าป่าพยศที่ยังไม่เคยถูกจับมาฝึกให้เชื่อง มีการซัดส่ายไปในทิศทางต่างๆ อยู่เป็นประจำ การทำสมาธินั้นก็เหมือนการจับม้าป่านั้นมาล่ามเชือก หรือใส่ไว้ในคอกเล็กๆ ไม่ยอมให้มีอิสระตามความเคยชิน เมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ม้านั้นก็ย่อมจะแสดงอาการพยศออกมา มีอาการดิ้นรน กวัดแกว่ง ไม่สามารถอยู่อย่างนิ่งสงบได้ ถ้ายิ่งพยายามบังคับ ควบคุมมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดิ้นรนมากขึ้นเท่านั้น

การจะฝึกม้าป่าให้เชื่องโดยไม่เหนื่อยมากนั้นต้องใจเย็นๆ โดยเริ่มจากการใส่ไว้ในคอกใหญ่ๆ แล้วปล่อยให้เคยชินกับคอกขนาดนั้นก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ลดขนาดของคอกลงเรื่อยๆ ม้านั้นก็จะเชื่องขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่แสดงอาการพยศอย่างรุนแรงเหมือนการพยายามบีบบังคับอย่างรีบร้อน เมื่อม้าเชื่องมากพอแล้ว ก็จะสามารถใส่บังเหียนแล้วนำไปฝึกได้โดยง่าย

การฝึกจิตก็เช่นกัน ถ้าใจร้อนคิดจะให้เกิดสมาธิอย่างรวดเร็วทั้งที่จิตยังไม่เชื่อง จิตจะดิ้นรนมาก และเมื่อพยายามบีบจิตให้นิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ จิตจะยิ่งเกิดอาการเกร็งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นจะหมายถึงความกระด้างของจิตที่เพิ่มขึ้น (จิตที่เกร็งจะเป็นจิตที่กระด้าง ซึ่งต่างจากจิตที่ผ่อนคลายจะเป็นจิตที่ประณีตกว่า) แล้วยังจะทำให้เหนื่อยอีกด้วย ถึงแม้บางครั้งอาจจะบังคับจิตไม่ให้ซัดส่ายได้ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าจิตมีอาการสั่น กระเพื่อมอยู่ภายใน

เหมือนการหัดขี่จักรยานใหม่ๆ ถึงแม้จะเริ่มทรงตัวได้แล้ว แต่ก็ขี่ไปด้วยอาการเกร็ง การขี่ในขณะนั้นนอกจากจะเหนื่อยแล้ว การทรงตัวก็ยังไม่นิ่มนวลราบเรียบอีกด้วย ซึ่งจะต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับการขับขี่ของคนที่ชำนาญแล้ว ที่จะสามารถขี่ไปได้ด้วยความรู้สึกที่ผ่อนคลายอย่างสบายๆ ราบเรียบ นุ่มนวล ไม่มีอาการสั่นเกร็ง

หลักทั่วไปในการทำสมาธินั้น พอจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1.) หาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำสมาธิให้มากที่สุดก่อนที่จะทำสมาธิ เพื่อจะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องลองผิดลองถูก และไม่หลงทาง ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ หรือเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังป้องกันความฟุ้งซ่านที่อาจจะเกิดขึ้นจากความลังเลสงสัยอีกด้วย

2.) เลือกวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด แล้วลองทำไปสักระยะหนึ่งก่อน ถ้าทำแล้วสมาธิเกิดได้ยากก็ลองวิธีอื่นๆ ดูบ้าง เพราะจิตและลักษณะนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีที่เหมาะสมของแต่ละคนจึงต่างกันไป บางคนอาจจะเหมาะกับการตามดูลมหายใจ ซึ่งอาจจะใช้คำบริกรรมว่าพุทธ-โธ หรือ เข้า/ออก ประกอบ บางคนอาจจะเหมาะกับการแผ่เมตตา บางคนถนัดการเพ่งกสิณ เช่นเพ่งวงกลมสีขาว ฯลฯ

ซึ่งวิธีการทำสมาธินั้นมีมากถึง 40 ชนิด เพื่อให้เหมาะกับคนแต่ละประเภท แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมากที่สุด ก็คืออานาปานสติ คือการตามสังเกต ตามรู้ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง (ดูรายละเอียดได้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ในหัวข้อวิธีแก้ไขนิวรณ์ 5/อุทธัจจกุกกุจจะ และในเรื่องอานาปานสติสูตร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ) เพราะทำได้ในทุกที่ โดยไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ใดๆ เลย ทำแล้วจิตใจเย็นสบาย ไม่เครียด

3.) อยู่ใกล้ผู้รู้ หรือรีบหาคนปรึกษาทันทีที่สงสัย เพื่อไม่ให้ความสงสัยมาทำให้จิตฟุ้งซ่าน

4.) พยายามตัดความกังวลทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นออกไปให้มากที่สุด โดยการทำงานทุกอย่างที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะทำสมาธิ หรือถ้าทำสมาธิไปแล้ว เกิดความกังวลถึงการงานใดขึ้นมา ก็ให้บอกกับตัวเองว่าตอนนี้เป็นเวลาทำสมาธิ ยังไม่ถึงเวลาทำงานอย่างอื่น เอาไว้ทำสมาธิเสร็จแล้วถึงไปทำงานเหล่านั้นก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ถ้าแก้ความกังวลไม่หายจริงๆ ก็หยุดทำสมาธิแล้วรีบไปจัดการเรื่องนั้นๆ ให้เรียบร้อยก่อนก็ได้ ถ้าคิดว่าขืนนั่งต่อไปก็เสียเวลาเปล่า เมื่องานนั้นเสร็จแล้วก็รีบกลับมาทำสมาธิใหม่

5.) ก่อนนั่งสมาธิถ้าอาบน้ำได้ก็ควรอาบน้ำก่อน หรืออย่างน้อยก็ควรล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้าก่อนจะทำให้โล่งสบายตัว เมื่อกายสงบระงับ จิตก็จะสงบระงับได้ง่ายขึ้น

6.) ควรทำสมาธิในที่ที่เงียบสงบ อากาศเย็นสบาย ไม่พลุกพล่านจอแจ

7.) ก่อนนั่งสมาธิควรเดินจงกรม (เดินกลับไปกลับมาช้าๆ โดยยึดจิตไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งในเท้า ข้างที่กำลังเคลื่อนไหว เช่น ปลายเท้า หรือส้นเท้า โดยควรมีคำบริกรรมประกอบ เช่น ขวา/ซ้าย ฯลฯ) หรือสวดมนต์ก่อน เพื่อให้จิตเป็นสมาธิในระดับหนึ่งก่อน จะทำให้นั่งสมาธิได้ง่ายขึ้น

8.) การนั่งสมาธินั้นควรนั่งในท่าขัดสมาธิ หลังตรง (ไม่นั่งพิงเพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย) หรือถ้าร่างกายไม่อำนวย ก็อาจจะนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ นั่งบนพื้นที่อ่อนนุ่มตามสมควร ทอดตาลงต่ำ ทำกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง (เพราะการเกร็งจะทำให้ปวดเมื่อย และจะทำให้จิตเกร็งตามไปด้วย) นั่งให้ร่างกายอยู่ในท่าที่สมดุล มั่นคง ไม่โยกโคลงได้ง่าย มือทั้ง 2 ข้างประสานกัน ปลายนิ้วหัวแม่มือแตะกันเบาๆ วางไว้บนหน้าตัก หลับตาลงช้าๆ หลังจากนั้นส่งจิตไปสำรวจตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้ทั่วทั้งตัว เพื่อดูว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดที่เกร็งอยู่หรือไม่ ถ้าพบก็ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้หายเกร็ง โดยไล่จากปลายเท้าทีละข้าง ค่อยๆ สำรวจเลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงสะโพก แล้วย้ายไปสำรวจที่ปลายเท้าอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นเดียวกัน จากนั้นก็สำรวจจากสะโพก ไล่ขึ้นไปจนถึงยอดอก แล้วสำรวจจากปลายนิ้วมือทีละข้าง ไล่มาจนถึงไหล่ เมื่อทำครบสองข้างแล้ว ก็สำรวจไล่จากยอดอกขึ้นไปจนถึงปลายเส้นผม ก็จะเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ทั่วร่างกาย จากนั้นหายใจเข้าออกลึกๆ สัก 3 รอบ โดยมีสติอยู่ที่ลมหายใจ ตรงจุดที่ลมกระทบปลายจมูก พร้อมกับทำจิตใจให้รู้สึกผ่อนคลายลงเรื่อยๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มทำสมาธิตามวิธีที่เลือกเอาไว้

9.) อย่าตั้งใจมากเกินไป อย่าไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนั้นวันนี้จะต้องได้ขั้นนั้นขั้นนี้ เพราะจะทำให้เคร่งเครียด จิตจะหยาบกระด้าง และจิตจะไม่อยู่กับปัจจุบัน เพราะมัวแต่ไปจดจ่ออยู่กับผลสำเร็จซึ่งยังไม่เกิดขึ้น จิตจะพุ่งไปที่อนาคต เมื่อจิตไม่อยู่ที่ปัจจุบันสมาธิก็ไม่เกิดขึ้น

ให้ทำใจให้สบายๆ ผ่อนคลาย คิดว่าได้แค่ไหนก็แค่นั้น แล้วค่อยๆ รวมจิตเข้ามาที่จุดที่ใช้ยึดจิตนั้น (เช่นลมหายใจ และคำบริกรรม) แล้วคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในขณะนั้น (เช่น ความหยาบ/ละเอียด ความยาว ความลึก ความเย็น/ร้อน ของลมหายใจ) จิตก็จะอยู่ที่ปัจจุบัน แล้วสมาธิก็จะตามมาเอง ถ้าฟุ้งซ่านไปบ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของจิต อย่ากังวล อย่าอารมณ์เสีย (จะทำให้จิตหยาบขึ้น) เพราะคนอื่นๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น เมื่อรู้ตัวว่าฟุ้งออกไปแล้ว ก็ใจเย็นๆ กลับมาเริ่มทำสมาธิใหม่ แล้วจะดีขึ้นเรื่อยๆ เอง

10.) ใหม่ๆ ควรนั่งแต่น้อยก่อน เช่น 5 - 15 นาที แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 20, 30, 40, ... นาที ตามลำดับ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจค่อยๆ ปรับตัว เมื่อนั่งไปแล้วหากรู้สึกปวดขาหรือเป็นเหน็บ ก็ขอให้พยายามอดทนให้มากที่สุด ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ จึงจะขยับ เพราะทุกครั้งที่มีการขยับตัวจะทำให้จิตกวัดแกว่ง ทำให้สมาธิเคลื่อนได้ และโดยปรกติแล้วถ้าทนไปได้ถึงจุดหนึ่ง เมื่ออาการปวดหรือเป็นเหน็บนั้นเกิดขึ้นเต็มที่แล้ว อาการปวดหรือเป็นเหน็บนั้นก็จะหายไปเอง และมักจะเกิดความรู้สึกเบาสบายขึ้นมาแทนที่ ซึ่งเป็นอาการของปิติที่เกิดจากสมาธิ

11.) การทำสมาธินั้น เมื่อใช้สิ่งไหนเป็นเครื่องยึดจิต ก็ให้ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวเราทั้งหมดไปรวมเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ อยู่ที่จุดยึดจิตนั้น เช่น ถ้าใช้ลมหายใจ (อานาปานสติ) ก็ทำความรู้สึกว่าตัวเราทั้งหมดย่อส่วนเป็นตัวเล็กๆ ไปนั่งอยู่ที่จุดที่รู้สึกว่าลมกระทบอย่างชัดเจนที่สุด เช่นปลายรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง หรือริมฝีปากบน เป็นต้น ให้ทำความรู้สึกที่จุดนั้นเพียงจุดเดียว ไม่ต้องเลื่อนตามลมหายใจ เหมือนเวลาเลื่อยไม้ ตาก็มองเฉพาะที่จุดที่เลื่อยสัมผัสกับไม้เพียงจุดเดียว ไม่ต้องมองตามใบเลื่อย ก็จะรู้ได้ว่าตอนนี้กำลังเลื่อยเข้าหรือเลื่อยออก เมื่อจิตอยู่ที่จุดลมกระทบเพียงจุดเดียว ก็จะรู้ทิศทาง และลักษณะของลมได้เช่นกัน

12.) ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากังวล เพราะทั้งหมดเป็นเพียงอาการของจิต พยายามตั้งสติเอาไว้ให้มั่นคง ตราบใดที่ไม่กลัว ไม่ตกใจ ไม่ขาดสติ ก็จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ทำใจให้เป็นปรกติ แล้วคอยสังเกตสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ถ้าเห็นภาพที่น่ากลัวปรากฏขึ้นมา หรือรู้สึกว่าได้สัมผัสกับสิ่งที่น่ากลัวใดๆ ก็ตาม ให้แผ่เมตตาให้สิ่งเหล่านั้น แล้วคิดว่าอย่าได้มารบกวนการปฏิบัติของเราเลย ถ้าไม่หายกลัวก็นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางใจ แล้วพยายามอย่าใส่ใจถึงสิ่งที่น่ากลัวนั้นอีก ถ้าแก้ไม่หายจริงๆ ก็ตั้งสติเอาไว้ หายใจยาวๆ แล้วค่อยๆ ถอนจากสมาธิออกมา เมื่อใจเป็นปรกติแล้วถึงจะทำสมาธิใหม่อีกครั้ง สำหรับคนที่ตกใจง่าย ก็อาจนั่งสมาธิหน้าพระพุทธรูป หรือนั่งโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย ก่อนนั่งก็ควรสวดมนต์ไหว้พระก่อน แล้วอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครอง

13.) ถ้าจิตไม่สงบ ก็ลองแก้ไขตามวิธีที่ได้อธิบายเอาไว้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ซึ่งได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียดแล้ว

14.) เมื่อจะออกจากสมาธิ ควรแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายก่อน โดยการระลึกถึงความปรารถนาให้ผู้อื่น และสัตว์ทั้งหลายมีความสุขด้วยใจจริง จากนั้นก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้จากการทำสมาธินั้น ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ผู้มีพระคุณ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย (ระลึกให้ด้วยใจ) แล้วหายใจยาวๆ ลึกๆ สัก 3 รอบ พร้อมกับค่อยๆ ถอนความรู้สึกจากสมาธิช้าๆ เสร็จแล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้น บิดเนื้อบิดตัวคลายความปวดเมื่อย แล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืนช้าๆ

15.) เมื่อตั้งใจจะทำสมาธิให้จริงจัง ควรงดเว้นจากการพูดคุยให้มากที่สุด เว้นแต่เพื่อให้คลายความสงสัยที่ค้างคาอยู่ในใจ เพราะการคุยกันนั้นจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน คือในขณะคุยกันก็มีโอกาสทำให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ ทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้น และเมื่อทำสมาธิก็จะเก็บมาคิด ทำให้ทำสมาธิได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการคุยกับคนที่สมาธิน้อยกว่าเรา นอกจากนี้ ควรเว้นจากการร้องรำทำเพลง การฟังเพลง รวมถึงการดูการละเล่นทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มกามฉันทะ ซึ่งเป็นนิวรณ์ชนิดหนึ่ง (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ) อันเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ



ที่มา



http://www.dhammathai.org/treatment/concentration/concentrate02.php

กสิน การปฏิบัติธรรม

1.) กสิณดิน คือการเพ่งดินที่นำมาปั้นเป็นวงกลม(แบน) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงความแข็งของดิน ไม่ใช่เพ่งที่สีของดินนั้น เพราะจะกลายเป็นกสิณสีต่างๆ แทน
2.) กสิณน้ำ คือการเพ่งน้ำที่บรรจุในภาชนะปากกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
3.) กสิณไฟ คือการเพ่งเปลวไฟผ่านช่องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงความร้อนของไฟ
4.) กสิณลม คือการเพ่งอาการเคลื่อนไหวของใบไม้ กิ่งไม้ที่ถูกลมพัด
5.) กสิณสีเขียว คือการเพ่งวัตถุสีเขียว เช่น กระดาษสีเขียว ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงสีเขียวที่ปรากฏ
6.) กสิณสีเหลือง คือการเพ่งวัตถุสีเหลือง เช่น กระดาษสีเหลือง ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
7.) กสิณสีแดง คือการเพ่งวัตถุสีแดง เช่น กระดาษสีแดง ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
8.) กสิณสีขาว คือการเพ่งวัตถุสีขาว เช่น กระดาษสีขาว ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
9.) กสิณแสงสว่าง คือการเพ่งแสงสว่างที่ลอดช่องหลังคาลงมากระทบพื้น หรือฝาผนังเป็นวงกลม หรืออาจจะประยุกต์ใช้แสงอย่างอื่นก็ได้ โดยทำความรู้สึกถึงความสว่าง ไม่ใช่เพ่งที่สีของแสงนั้น
10.) อากาสกสิณ (ช่องว่าง) คือการเพ่งช่องว่างต่างๆ เช่น ช่องว่างในกรอบหน้าต่าง ประตู

อสุภะ 10
คือการเพ่งซากศพชนิดต่างๆ มีข้อดีคือ ภาพจะติดตาได้ง่ายมาก และจะได้เตือนใจถึงความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประกอบด้วย

1.) ศพขึ้นอืด
2.) ศพที่เปลี่ยนสภาพเป็นสีเขียวคล้ำปนกับสีอื่นๆ
3.) ศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
4.) ศพที่ขาดเป็น 2 ท่อน
5.) ศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว
6.) ศพที่ขาดกระจุยกระจาย มือ เท้า ศีรษะแยกขาดไปอยู่ข้างๆ
7.) ศพที่ถูกสับเป็นท่อนๆ กระจัดกระจาย
8.) ศพที่มีเลือดอาบ
9.) ศพที่ถูกหนอนชอนไชเต็มไปหมด
10.) ศพที่เหลือแต่กระดูก

อนุสติ 10 ประกอบด้วย

1.) พุทธานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา
2.) ธัมมานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระธรรม ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา
3.) สังฆานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา
4.) สีลานุสติ คือการระลึกถึงความบริสุทธิ์ของศีลของตนเอง ด้วยความอิ่มเอิบใจ พร้อมด้วยการพิจารณาถึงอานิสงส์ต่างๆ ที่จะได้รับจากความบริสุทธิ์ของศีลนั้น
5.) จาคานุสติ คือการระลึกถึงการให้ทานที่ตนได้ทำไปแล้ว ด้วยความอิ่มเอิบใจ พร้อมด้วยการพิจารณาถึงอานิสงส์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการให้ทานนั้น
6.) เทวตานุสติ คือการพิจารณาถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา แล้วระลึกถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ตนได้ทำไว้แล้ว อันจะส่งผลให้ได้เกิดเป็นเทวดา
7.) มรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายที่ต้องมีขึ้นเป็นธรรมดา โดยไม่รู้ว่าจะช้าหรือเร็วเท่าใด จะได้ไม่ประมาทในการรีบทำบุญกุศลต่างๆ รวมทั้งมีความเพียรในการทำกรรมฐาน คือสมาธิ และวิปัสสนา เพื่อให้พร้อมสำหรับความตาย
8.) กายคตาสติ คือการพิจารณาถึงร่างกายว่าประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ เช่น ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก ฯลฯ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด น่าเกลียด ไม่สวยงาม เป็นที่เกิดของโรคนานาชนิด ไม่น่ารักน่าใคร่ เพื่อไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาในกาย
9.) อานาปานสติ คือการเพ่งลมหายใจเข้าออก
10.) อุปสมานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระนิพพาน

อัปปมัญญา 4 คือ การแผ่ความรู้สึกออกไปโดยไม่มีประมาณ ประกอบด้วย

1.) เมตตา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
2.) กรุณา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์
3.) มุทิตา คือความยินดีที่ผู้อื่นมีความสุข
4.) อุเบกขา คือความรู้สึกที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความสุขความทุกข์ของผู้อื่น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม จึงทำลายความยินดียินร้าย ความชอบความชังลงได้ วางจิตให้เป็นกลาง ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว สงบนิ่งอยู่

อื่นๆ อีก 2 อย่างคือ

1.) อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือการพิจารณาถึงความเป็นปฏิกูล น่ารังเกียจ ของอาหารที่รับประทานเข้าไป พิจารณาถึงการแปรสภาพของอาหาร ตั้งแต่ถูกเคี้ยว คลุกเคล้ากับน้ำลายอยู่ในปาก ผ่านไปยังกระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ จนกระทั่งออกมาจากร่างกายอีกครั้ง ด้วยสภาพที่บูดเน่า น่ารังเกียจ เพื่อประโยชน์ในการไม่ติดในรสอาหาร รวมถึงป้องกันกิเลสตัวอื่นๆ ที่จะเกิดจากอาหาร
2.) จตุธาตุววัฏฐาน คือการพิจารณาร่างกายของตนว่าเป็นเพียงธาตุ 4 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม เท่านั้น ปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เพื่อขจัดความยึดมั่นถือมั่น

อรูปสมาบัติ 4 คือ การใช้สิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรมเป็นเครื่องยึดจิต เป็นสมาธิขั้นสูงกว่าขั้นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด (ซึ่งเป็นรูปสมาบัติ) ประกอบด้วย

1.) อากาสานัญจายตนะ คือการเพ่งช่องว่างที่กว้างใหญ่หาที่สุดไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการเพิกรูปธรรม (เช่น นิมิตต่างๆ ที่ใช้ยึดจิตในรูปสมาบัติ) ออกไป ในชั้นอรูปสมาบัตินี้ จะพ้นจากความยินดีพอใจในรูปธรรมทั้งปวง ยินดีพอใจเฉพาะในนามธรรมเท่านั้น
2.) วิญญาณัญจายตนะ คือการเพ่ง หรือทำความรู้สึกไปที่วิญญาณหรือจิต ที่แผ่ออกไปรับรู้ความรู้สึกในช่องว่างที่กว้างใหญ่ไพศาลในขั้นอากาสานัญจายตนะนั้น จิตจะละเอียด ประณีตกว่าอากาสานัญจายตนะ
3.) อากิญจัญญายตนะ คือการทำความรู้สึกถึงความไม่มีอะไรเลย หลังจากเพิกวิญญาณัญจายตนะออกไป จิตจึงละเอียดประณีตขึ้นไปอีก
4.) เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือความรู้สึกที่เหลืออยู่น้อยมาก จนแทบไม่รู้สึกตัวเลย หลังจากเพิกความรู้สึกในอากิญจัญญายตนะออกไป เป็นจิตที่ละเอียด ประณีตที่สุดที่ปุถุชน โสดาบัน และสกทาคามีบุคคลจะทำได้
(อนาคามีบุคคล และพระอรหันต์จะทำได้ถึงขั้นหมดความรู้สึกตัวอย่างสิ้นเชิง ที่เรียกว่านิโรธสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธ

ที่มาเว็บไซท์ธรรมะไทย

ข้อมูลที่ชอบอ่าน

  • บทความธรรมะ
  • เทคโนโลยี
  • หนังสือพิมพ์

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
เสิงสาง, นครราชสีมา, Thailand