หน้าแรก

วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ยุทธภูมิที่โอกินาวา


หลังจากการพ่ายแพ้ที่ไซปัน ในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 1944 ญี่ปุ่นก็รู้ทันทีว่าเป้าหมายต่อไปของสหรัฐ จะต้องเป็นเกาะอิโวจิม่า จึงทำการระดมพลยกใหญ่ ด้วยการเกณฑ์ทหารเข้าไปประจำการยังเกาะแห่งนี้ ให้เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอสิ้นเดือนพฤษภาคม พลโท ทาดามิชิ คูริบายาชิ ได้ถูกเรียกเข้าพบ กับนายกรัฐมนตรีและนายพลฮิเดกิ โตโจ ( Prime Minister General Hideki Tojo) เพื่อให้เป็นผู้บัญชาการป้องกันเกาะอิโวจิม่า ที่โตโจเลือกเขาเพราะเห็นว่าเป็นคนที่รอบรู้ และมีความสามารถ คูริบายาชิได้เข้ารับหน้าที่นี้ ในวันที่ 8 มิ ุถุนายน ค.ศ. 1944 คูริบายาชิมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะเปลี่ยนเกาะนี้ให้เป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่ง พอที่จะต่อต้านสหรัฐให้ยาวนาน และยากที่จะตีแตก เพื่อสร้างความเสียหายให้กับกองกำลังสหรัฐให้ได้มากที่สุด เป็นการตัดกำลังก่อนที่สหรัฐจะยกพลขึ้นบกบุกแผ่นดินแม่ญี่ปุ่น
เมื่อเขามาถึงเกาะในตอนแรกนั้น อิโวจิม่ามีเครื่องบินขับไล่ประจำการเป็นจำนวนถึง 80 ลำ แต่พอถึงช่วงต้นเดือนกรกฏาคม กองทัพเรือสหรัฐก็เริ่มทำการระดมยิงปืนใหญ่จากเรือรบ ทำให้เครื่องบินขับไล่ของเกาะ เหลือเพียง 4 ลำเท่านั้น กระสุนปืนใหญ่ยังได้ทำลายค่ายต่างๆบนเกาะ รวมทั้งเครื่องบินที่เหลือรอดเป็นจำนวน 4 ลำไปด้วย
เป็นเรื่องที่น่าแปลกสำหรับฝ่ายป้องกันเกาะ เพราะสหรัฐไม่ได้ยกพลขึ้นบกในช่วงฤดูร้อนของปีค.ศ. 1944 อย่างที่น่าจะเป็น สร้างความน่าฉงนสนเทห์เป็นอย่างมาก ในเวลานั้น เหมือนกับสหรัฐต้องการจะแสดงให้เห็นว่าสามารถเอาชนะได้โดยง่าย จึงจะบังคับให้ยอมแพ้เสีย แต่นายพลคูริบายาชิยังคงมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะให้อิโวจิม่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับสหรัฐ เมื่อการบุกใกล้เข้ามาฝ่ายสหรัฐใช้การโจมตีทางอากาศก่อน ด้วยเครื่องบินรบจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ดูเหมือนเกาะ อิโว ใกล้จะถึงกาลอวสานเข้ามาทุกขณะ เพราะถูกกำลังทั้งทางเรือและอากาศโจมตีอย่างหนัก โดยไม่สามารถตอบโต้อะไรแก่ฝ่ายสหรัฐได้เลย
ในขั้นแรกอิโวจิม่าพร้อมที่จะทำการรบอย่างยืดเยื้อ คูริบายาชิได้สั่งให้มีการอพยพพลเรือน( civilians) ทั้งหมดออกจากเกาะ และประสบความสำเร็จในช่วงท้ายเดือนกรกฏาคม ในตอนแรกนั้นการป้องกันเกาะอยู่ในความรับผิดชอบของ พลโทฮิเดโอชิ โอบาตะ( Lieutenant General Hideyoshi Obata ) เป็นนายพลบัญชาการกองทัพที่ 131 ( Thirty-First Army ) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเขากลับมาจากหมู่เกาะมาเรียน่า ( Marianas) และได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบการป้องกันเกาะในฐานะปลัดของเกาะ เขาสั่งให้ทำการขุดสนามเพลาะและสร้างรังปืนกล ใกล้กับชายหาด แต่นายพลคูริบายาชิซึ่งต่อมา เข้ามารับหน้าที่ผู้บัญชาการป้องกันเกาะแทนที่เขา กลับมีความคิดที่แตกต่างออกไป เขาคิดว่าการเอาทหารมาป้องกันใกล้หาดนั้นหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย เพราะไม่ว่ายังไงก็คงไม่สามารถหยุดการบุกของฝ่ายสหรัฐได้ คูริบายาชิคิดจะใช้ชายหาดของเกาะเป็นที่ปูพรมของอาวุธนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาวุธอัตโนมัติ หรือปืนยาวทหารราบ , ปืนใหญ่ , ปืนครก และจรวด นอกจากนี้ยังทำให้ชายหาดที่ทหารสหรัฐจะยกพลขึ้นบกเป็นพื้นที่ลาดเอียง เพื่อสร้างความลำบากในการเคลื่อนที่ ของนาวิกโยธินสหรัฐและรถถัง ยานเกราะต่างๆ ให้ตกเป็นเหยื่อกระสุนปืนได้ง่ายๆ โดยได้ติดตั้งอาวุธนานาชนิดเหล่านี้ ไว้บนยอดเขาซูริบาชิ ซึ่งเป็นที่สูงของเกาะทำให้ได้เปรียบเป็นอย่างมาก และพี้นที่สูงทางตอนเหนือของสนามบินชิโดริ
เพื่อการทำสงครามยืดเยื้อ เกาะนี้จึงต้องการระบบอุโมงค์และถ้ำ เพื่อป้องกันทหารญี่ปุ่น จากการถูกโจมตีด้วยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน และปืนใหญ่ของเรือรบสหรัฐ และหลอกให้ฝ่ายสหรัฐตายใจ คิดว่าไม่มีทหารญี่ปุ่นหลงเหลืออยู่บนเกาะแห่งนี้แล้ว โดยงานนี้ได้ใช้ ผู้เชี่ยวชาญการขุดเหมืองแร่ในญี่ปุ่นมาช่วยทำการขุดอุโมงค์ ในชื่อว่าโครงการสร้างป้อมปราการใต้ดิน( projected underground fortifications ) การขุดอุโมงค์ทำอย่างปราณีต โดยถูกแบ่งเป็นหลายๆชั้น มีระบบระบายอากาศที่ดีและมีรูที่เล็ก รวมทั้งทางเข้าออกที่ป้องกันการถูกปิดทาง จากการทิ้งระเบิดและการระเบิดของกระสุนปืนใหญ่
ในเวลาต่อมาเกาะอิโว ก็ได้รับกำลังหนุน จากกองพลทหารราบที่ 109 (109th Infantry Division) คูริบายาชิ ได้ย้ายกองพลน้อยอิสระผสมทหารราบที่สอง ( 2nd Independent Mixed Brigade) ประกอบไปด้วยทหาร เป็นจำนวน 5,000 นาย ภายใต้การบัญชาการของ พลตรีโคโตะ โอซูกะ( Major General Kotau Osuga) จากเกาะชิชิ( Chichi) มายังเกาะอิโว เมื่อเกาะไซปันแตกทหาร 2,700 นาย จากกรมทหารราบที่ 145 (145th Infantry Regiment) ภายใต้การบัญชาการของ พันเอกมาซูโอะ อิเคดะ ( Colonel Masuo Ikeda) ได้ถูกนำมาเพิ่มเติมที่เกาะนี้ กำลังหนุนเหล่านี้ได้มาถึงเกาะ ในช่วงระหว่างเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม ปี ค.ศ. 1944 ทำให้ในขณะนั้นกองกำลังป้องกันเกาะ มีกำลังที่แข็งแกร่งรวมกันเป็นทหาร จำนวนประมาณ 12,700 นาย ต่อมาก็มีสมาชิกเพิ่มอีก 1,233 นาย จากกองพันทหารเรือก่อสร้างที่ 204 ( 204th Naval Construction Battalion ) พอมาถึงแล้ว พวกเขาก็รีบทำการก่อสร้าง รังปืนกลคอนกรีต ( concrete pillboxes) และป้อมปราการอื่นๆ
นายพลคูริบายาชิระหว่างสั่งการสร้างแนวป้องกันบนเกาะอิโวจิม่า
นายพลคูริบายาชิ ได้ตั้งศูนย์บัญชาการที่แข็งแกร่ง ไว้ทางตอนเหนือของเกาะ ห่างจากหมู่บ้าน คิตะ ( Kita village ) ไปทางเหนือ 500 เมตร และทางใต้ของแหลมคิตาโนะ ( Kitano Point) โดยอยู่ลึกลงไปใต้ดินถึง 20 เมตร ประกอบไปด้วยถ้ำขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้างที่เชื่อมต่อกันเป็นระยะทาง 150 เมตร ผู้บัญชาการเกาะมีห้องบัญชาการรบ ( war room ) อยู่ห้องเดียวในสามห้อง ซึ่งทำด้วยคอนกรีต 2 ห้องที่เหลือ ก็เป็นแบบเดียวกับห้องแรก และล้อมรอบด้วยหลายๆห้อง ไกลออกไปทางใต้เป็นเนิน 382 ( Hill 382 ) ซึ่งเป็นจุดที่สูงบนเกาะจุดที่สอง รองจากยอดเขาซูริบาชิ ญี่ปุ่นได้สร้างสถานีวิทยุและสถานี พยากรณ์อากาศ ( radio and weather station ) ไว้ที่นี่ ใกล้ๆกันนั้นทางใต้ของสถานี มีการสร้างบ้านคอนกรีตขนาดใหญ่ใต้ดิน และเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ ( headquarters ) ของพันเอก โชซาคุ ไคโดะ ( Colonel Chosaku Kaido ) ซึ่งเป็นผู้สั่งการปืนใหญ่ทั้งหมด บนเกาะอิโว เนินอื่นๆทางตอนเหนือของเกาะ ได้ถูกขุดอุโมงค์ที่มีทางเข้าออกตามภูมิประเทศ ที่ถูกกระสุนปืนใหญ่หรือลูกระเบิดใส่เป็นหลุม แต่สร้างไว้ให้ยากที่จะทำลายได้ มีการสร้างการป้องกันใต้ดินสำหรับ ศูนย์คมนาคมหลัก ( main communications center ) ทางใต้ของหมู่บ้านคิตะ ด้วยห้องที่มีความกว้างขวางยาว 50 เมตร กว้าง 20 เมตร เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และป้องกันด้วยกำแพงและเพดานที่หนา เชื่อมไปถึง ศูนย์บัญชาการของนายพลคูริบายาชิ
ทางเดินในอุโมงค์ สามารถเชื่อมต่อกับระบบป้องกันต่างๆได้ทั่วทั้งเกาะ คูริบายาชิวางโครงการขุดอุโมงค์ไว้ว่า อุโมงค์ทั้งเกาะนั้น จะต้องมีความยาวรวมกันถึง 17 ไมล์ ( 27 กิโลเมตร ) จากทางเหนือ ไปจนถึงทางใต้ของเกาะ ลาดขึ้นไปสู่ยอดเขาซูริบาชิ ซึ่งมีอุโมงค์หลบภัยหลายพันหลา เมื่อถึงเวลาที่นาวิกโยธินสหรัฐยกพลขึ้นบก ญี่ปุ่นสามารถขุดอุโมงค์แล้วเสร็จไปได้ 11 ไมล์( 18 กิโลเมตร )
สิ่งที่แสดงถึงความมุมานะพยายาม ของทหารช่างญี่ปุ่นที่สุด ก็คือการสร้างทางใต้ดิน บนเกาะอิโว ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ตามหลักการ และระยะเวลา เป็นการเอาชนะธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะพวกเขาจะต้องอ่อนแอลง จากอุณหภูมิใต้ดินที่ร้อนถึง 30-50 องศาเซลเซียล ( 90-130 ฟาเรนไฮต์) และ ยังต้องสวมหน้ากากป้องกันแก็สพิษ( gas masks ) จากกลิ่นไอกำมะถัน ที่พวยพุ่งออกมาจากใต้ดิน เมื่อทำงานได้ครบ 5 นาที ก็ต้องรีบออกมา พวกเขาทำงานขุดอุโมงค์ทุกวัน จนกระทั่งอเมริกันโจมตีเกาะในวันที่ 8 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1944 ( ตรงนี้มีให้ดูในหนังเรื่อง Letter from iwo jima ) ทหารช่างส่วนใหญ่ ก็ถูกนำไปช่วยในการซ่อมแซมสนามบิน ที่เสียหายจากการโจมตี
เมื่อส่วนใหญ่ของเกาะอิโว ถูกเปลี่ยนเป็นป้อมปราการ ด้วยการสร้างอย่างรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อแล้ว นายพลคูริบายาชิได้กำหนดแผนสุดท้ายของเขาเพื่อป้องกันเกาะ ซึ่งแผนนี้ ได้ตัดยุทธวิธีเดิมที่ญี่ปุ่นเคยใช้ในช่วงต้นสงคราม หรือก่อนหน้านี้ทิ้งไป ซึ่งแผนของเขามีขั้นตอนดังนี้
1. ออกคำสั่งไม่ให้เปิดเผย ตำแหน่งป้องกันแก่ฝ่ายสหรัฐ ปืนใหญ่ของญี่ปุ่น จะไม่ยิงเพื่อไม่เปิดเผยที่ตั้ง ให้กับเรือรบสหรัฐ 2. ไม่มีการสร้างเครื่องกีดขวาง การยกพลขึ้นบกของนาวิกโยธินสหรัฐ หรือทำการยิงขัดขวาง 3. เมื่อนาวิกโยธินสหรัฐ บุกเข้ามาลึก 500 เมตรจากชายฝั่ง ให้ป้อมปืนกลคอนกรีต ทำการยิงอาวุธอัตโนมัติ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับสนามบินโมโตยาม่า ( Motoyama airfield ) รวมทั้งการใช้ปืนใหญ่ยิง ทหารสหรัฐที่ชายหาด จากทางเหนือ ส่วนอาวุธในยอดซูริบาชิ ให้ทำการยิงชายหาดจากทางใต้ 4. เมื่อทำให้กองกำลังยกพลขึ้นบก ของสหรัฐสูญเสียอย่างหนักแล้ว ให้ย้ายปืนใหญ่ไปทางเหนือและตั้งตำแหน่งยืงใหม่บนที่สูง ใกล้กับสนามบินชิโดริ
คูริบายาชิ ได้เน้นย้ำเป็นอย่างมาก ให้ทหารของเขาปฏิบัติตามแผนการนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถต่อต้าน ได้อย่างยืดเยื้อและยาวนาน มีการกักตุนอาหารแห้งและกระสุนไว้ด้วย คูริบายาชิได้สั่งให้อาหารงวดสุดท้าย มีจำนวนพอที่จะเลี้ยงทหารของเขา ไปได้อีก 2 เดือนครึ่ง แต่ก็มีอาหารจำนวนน้อยกว่าที่ต้องการ ซึ่งสามารถมาถึงเกาะอิโวได้ ในช่วงท้ายปี ค.ศ. 1944 การขนส่งก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อกองกำลังทางทะเลของศัตรู ได้ล้อมเกาะไว้ทุกด้าน
ในเดือนสุดท้าย ของการเตรียมการป้องกันเกาะอิโว นายพลคูริบายาชิ พบว่าการสร้างป้อมปราการ ทำให้กำลังพลไม่มีเวลาพอ สำหรับการฝึกซ้อมรบ เขาจึงมีคำสั่งให้ทหารหยุดทำงาน ทางตอนเหนือของสนามบินไว้ก่อน ทหารจึงได้ทำการฝึกซ้อมในช่วงต้นเดือนธันวาคม ไปจนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1945 รวมแล้วทหารทุกคนใช้เวลาในการฝึกซ้อมไป 70% ส่วนอีก 30% เป็นการทำงานก่อสร้าง
แม้จะถูกขัดขวาง ทั้งจากเรือดำน้ำ และเครื่องบินของข้าศึก แต่กองกำลังญี่ปุ่น ก็สามารถมาถึงเกาะอิโวได้ จนกระทั่งเดือน กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1945 นายพลคูริบายาชิ ก็มีทหารอยู่ในบังคับบัญชาซึ่งเป็นทหาร ทั้งจาก กองทัพบก และ กองทัพเรือ ประมาณ 21,000 ถึง 23,000 นาย
เรือบรรทุกเครื่องบินและเรือรบสหรัฐเริ่มทำการโจมตี หมู่เกาะโอกาซาวาระ ในวันที่ 8 ธันวาคมปี ค.ศ. 1944 เกาะอิโว ก็ถูกทิ้งระเบิดเป็นขนาดรวมกันแล้ว หนักถึง 800 ตัน แต่ก็แค่ทำให้ทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในอุโมงค์ รู้สึกสั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหวที่บ้าน และ เกิดความเสียหายน้อยมาก ต่อแนวป้องกัน แต่การทิ้งระเบิดในเวลากลางคืน ก็ทำให้ทหารญี่ปุ่นนอนหลับไม่ได้
ในวันที่ 5 มกราคม ปี ค.ศ. 1945 พลเรือตรี อิชิมารุ แจ้งข่าวให้ทหารเรือ ที่กองบัญชาการของเขาว่า การรบที่อ่าวเลเต ( Battle of Leyte Gulf) สิ้นสุดลงแล้วด้วยความพ่ายแพ้ และสูญเสีย ฟิลิปปินส์ให้กับสหรัฐ เขาเชื่อว่าสหรัฐจะต้องบุกเกาะอิโว ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ พลวิทยุสื่อสารของญี่ปุ่น แจ้งให้ผู้บัญชาการบนเกาะอิโวทราบ ถึงสัญญาณจากเครื่องบินสหรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงและแสดงถึงลางร้าย
ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เครื่องบินลาดตะเวน ของกองทัพเรือญี่ปุ่น ก็พบกับเรือของสหรัฐเป็นจำนวนถึง 170 ลำ! กำลังมุ่งหน้ามาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของไซปัน ทหารญี่ปุ่นทั้งหมดบนหมู่ เกาะโอกาซาวาระ ถูกสั่งให้เตรียมพร้อมรบและเข้าประจำในที่มั่น บนเกาะอิโว การเตรียมการป้องกันก็พร้อมจะรับการบุกของสหรัฐ
ที่มา : http://www.cmgame.net/tanarmy/index/ww2/iwojima.htm

ข้อมูลที่ชอบอ่าน

  • บทความธรรมะ
  • เทคโนโลยี
  • หนังสือพิมพ์

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
เสิงสาง, นครราชสีมา, Thailand